fbpx

5 ปัจจัยสำคัญ เมื่อต้องการทำประกันร้านค้าหรือโกดังเก็บสินค้า

5 ปัจจัยสำคัญ เมื่อต้องการทำประกันร้านค้าหรือโกดังเก็บสินค้า

ประกันอัคคีภัยบ้าน ประกันอัคคีภัยคอนโด ประกันน้ำท่วม ประกันไฟไหม้ ประกันบ้าน
ประกันอัคคีภัยบ้าน ประกันอัคคีภัยคอนโด ประกันน้ำท่วม ประกันไฟไหม้ ประกันบ้าน

ปัจจุบันการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะการขายของออนไลน์ผ่านโซเชียลค่อนข้างเป็นที่นิยม แต่ถึงอย่างนั้น การขายของแบบมีร้านค้าหรือหน้าร้าน ก็ใช่ว่าจะหมดเสน่ห์หรือทำกำไรได้น้อยลง เพราะความจริงแล้วร้านค้าก็ยังคงเป็นสถานที่หลักในดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านและการเพิ่มช่องทางด้วยระบบออนไลน์ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้

ดังนั้น นอกจากจะมีหน้าร้านแล้วก็อาจจะต้องมีโกดังหรือสถานที่เก็บสินค้าด้วย และแน่นอนว่ามูลค่าของสินค้าที่เก็บไว้ทั้งที่ร้านหรือโกดังเก็บสินค้านั้น รวมๆ กันแล้วก็มีมูลค่ามหาศาลไม่น้อยไปกว่าทรัพย์สินอื่น นั่นหมายความว่าหากเกิดความเสียหายกับสินค้านั้นเหล่านั้น ด้วยอุบัติภัยใดๆก็ตาม สิ่งที่จะช่วยทดแทนกันได้ก็คือการทำประกันภัยไว้นั่นเอง

หลักในการทำประกันภัยร้านค้าหรือโกดัง ที่ทุกคนที่มีร้านค้าหรือโกดังจำเป็นต้องทราบ เพื่อการเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยจะได้รับประโยชน์สูงสุดมีรายละเอียดตามที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้

1.ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนว่า ทรัพย์สินในการทำประกันแบ่งเป็นอะไรบ้าง ซึ่งหมวดหมู่ในการทำประกันภัยร้านค้าหรือโกดังจะแบ่งเป็น

  • สิ่งปลูกสร้าง
  • เฟอร์นิเจอร์
  • สต็อกสินค้า

ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างนั้นในบางกรณีผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเจ้าของตัวอาคาร นั่นก็คือไปเช่าอาคารเพื่อเก็บสินค้าอีกทีหากต้องการทำประกันภัยก็ต้องดูว่า ในสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าได้มีการบังคับให้ทำประกันหรือไม่ ถ้ามีการกำหนดไว้ แนะนำว่าให้ทำประกันตัวอาคารแยกออกมาแล้วระบุว่าผู้ให้เช่าหรือเจ้าของอาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะทำรวมกับทรัพย์สินของผู้เอาประกันเป็นกรมธรรม์เดียว แต่ระบุให้ชัดเจนว่าผู้เป็นเจ้าของอาคาร ได้รับผลประโยชน์ในส่วนของตัวอาคารเท่านั้น แต่ถ้าสัญญาเช่าไม่มีการบังคับให้ทำประกัน อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เช่าหรือผู้เอาประกันว่าจะทำประกันร้านค้า และรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ควรนำไปพิจารณาประกอบคือ ถ้าโชคร้ายเกิดอัคคีภัยจากความผิดของผู้เช่าแล้วตัวอาคารเสียหาย สุดท้ายเจ้าของอาคารก็ต้องมาเรียกร้องความเสียหายจากผู้เช่าอยู่ดี ถ้าทำประกันสิ่งปลูกสร้างไว้ก็จะช่วยได้มาก

2.ทำความเข้าใจแต่ละหมวดของทรัพย์สินและระบุรายละเอียดทรัพย์สิน ให้ครบถ้วนตามคำจำกัดความของทรัพย์สินประเภทนั้นๆ เช่น

สิ่งปลูกสร้าง ในที่นี้ หมายถึงตัวอาคารไม่รวมฐานราก รวมถึงส่วนที่ต่อเติมและกำแพง ประตู ป้อมยามด้วย

เฟอร์นิเจอร์ ในที่นี้หมายถึง วัตถุที่ติดตั้ง ชั้นวางของ และอื่นๆ ที่สามารถจำกัดความได้ว่าอุปกรณ์ในการประกอบการ

เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค ป้ายต่างๆ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆที่มีมูลค่าแบบจับต้องได้

สต็อกสินค้า ไม่ควรกำหนดโดยใช้เพียงคำว่าสินค้าอย่างเดียวเพราะจะหมายถึงสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น ให้ระบุลงไปเลยว่า วัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต สินค้าหรือ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ถ้าเป็นร้านอาหารก็ต้องระบุถึงเครื่องปรุงรส และเครื่องดื่มทุกชนิดด้วย นอกเหนือจากนี้ในบางครั้งสินค้าบางอย่างลูกค้าอาจจ่ายเงินเราแล้วแต่รอแค่การขนส่ง หมายความว่ากรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของได้โอนย้ายไปยังคนซื้อแล้วเราเป็นเพียงผู้ดูแลเก็บรักษาก่อนส่งมอบ ดังนั้นก็ต้องขยายความคุ้มครองไปถึง สินค้าที่ผู้เอาประกันดูแลในฐานะผู้รักษาทรัพย์อีกเช่นกัน

3.ควรกำหนดมูลค่าทรัพย์สินแต่ละประเภทให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด

ในทางประกันภัย ตัวอาคารจะมีวิธีคำนวณว่าทุนประกันควรเป็นเท่าใดแต่ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ และสต็อกสินค้า อาจต้องใช้ตัวเลขทางบัญชีมาช่วยส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าทรัพย์สินบางอย่างเมื่อถือครองมาระยะหนึ่ง อาจถูกหักค่าเสื่อมไปด้วยตามแนวคิดทางบัญชี แต่ในทางประกันภัยจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจะคิดจากหลักที่ว่าถ้าซื้อทรัพย์สินชนิดนี้ ในอายุการใช้งานที่เท่ากัน รุ่นเดียวกัน จะต้องซื้อมาในราคาเท่าใด หรือพูดง่ายๆ ว่าราคามือสองในทรัพย์สินที่มีลักษณะเดียวกันคือเท่าใด โดยการกำหนดทุนประกันแต่ละประเภททรัพย์สินต้องกำหนดอย่างน้อยไม่ให้ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจทำให้การประกันทรัพย์สินถูกกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเกิดผลเมื่อมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องได้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

4.ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้น

นอกเหนือจากความคุ้มครองไฟไหม้ ในบางครั้งด้วยสภาพแวดล้อม หรือปัจจัยอื่นๆ ของตัวอาคารอาจทำให้ความเสี่ยงภัยอื่นๆเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ เช่น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่ำ หรือตั้งอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่โล่งแจ้ง ก็อาจเสี่ยงกับความเสียหายจากภัยลมพายุหรือภัยน้ำท่วม , ตั้งอยู่ในซอยเปลี่ยว ลึก ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม หรือถ้าหน้าร้านประกอบด้วยกระจก ก็ควรมีความคุ้มครองความเสียหายของตัวกระจก เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ผู้เอาประกันต้องคิดตามให้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วไม่มีความคุ้มครอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่คุ้มกันกับการที่เราเพิ่มค่าเบี้ยอีกเพียงเล็กน้อย การเลือกความคุ้มครองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

5.เลือกแบบกรมธรรม์และบริษัทประกันให้เหมาะกับความต้องการให้คุ้มค่ามากที่สุด

ซึ่งปัจจุบันหลายๆ บริษัทประกันภัยได้จัดความคุ้มครองออกมาเป็น แพ็คเกจ แตกต่างกันไป ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความคุ้มครองที่ครอบคลุมครบถ้วน เพราะในกรมธรรม์ประกันภัยนั้นจะมีเนื้อหาต่างๆ ทั้งในส่วนของความคุ้มครอง เงื่อนไขและข้อยกเว้น ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจและอ่านเอกสารให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันภัย เพราะส่วนนี้คือส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำประกันภัยก็ว่าได้

Leave a Comment